ป้ายโฆษณา



ป้ายโฆษณา

ก่อนซื้อโทรศัพท์มือถือ หรือคอมพิวเตอร์มือสอง ตรวจ S/N ที่แจ้งหาย/ถูกขโมยที่นี่!! BlockSerial.Com

เล่นอย่างไร..ให้ลูกรักมีความสุข

พิมพ์อีเมล

( 5 Votes )
เล่นอย่างไร..ให้ลูกรักมีความสุข
การเล่นมีบทบาทที่สำคัญต่อการพัฒนาทั้งทางด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์และสังคม การเล่นกับลูกจึงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่พ่อแม่ควรให้ความสำคัญและจำเป็นอย่าง ยิ่งที่จะต้องจัดหาของเล่นให้สอดคล้องเหมาะสมกับวัยของลูก


ช่วงแรกเกิดถึง 1 ปี : ลูกมีความสุขจากการได้รับการกระตุ้นอวัยวะรับสัมผัสได้แก่ การมอง การฟัง และการสัมผัสร่างกาย ดังนั้นของเล่นช่วงวัยนี้จึงควรมีลักษณะดังนี้ ของเล่นที่แขวนแล้วแกว่งไปมาได้ (มีสีสันสดใสหรือมีเสียงด้วย) ของเล่นที่เขย่า บีบขยำหรือสั่นแล้วมีเสียง ของเล่นที่นิ่มสามารถหยิบจับ กัด ดูด หรือเคี้ยวได้โดยไม่เป็นอันตราย เช่น ยางที่เด็กกัดได้ ของเล่นที่ทำด้วยไม้เป็นรูปสี่เหลี่ยมขอบมน เหมาะที่จะหยิบจับสำรวจ ลูกบอลที่กลิ้งเพื่อให้เด็กคลานตาม นอกจากนี้ยังมีเกมง่ายๆ เช่น ปิดตาจ๊ะเอ๋ ส่องกระจกเพื่อให้เด็กเล่นกับเงาในกระจก ตบแผะ ปูไต่ จับปูดำ ขยำปูนา การโยกเยกตัวไปตามจังหวะหรือเพื่อฝึการทรงตัว เสียงเพลง ดนตรีที่เป็นจังหวะและเพลงกล่อมเด็ก หรือเสียง แม่พ่อ (หรือคนเดียว) เล่านิทาน (แม้จะยังไม่ค่อยเข้าใจเนื้อเรื่อง) ช่วงท้ายของขวบปีชอบให้คนอื่นชี้ให้ดูภาพต่างๆ
สิ่งที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษ : ของเล่นต้องไม่แหลมคม สีไม่ลอกและไม่มีสารพิษผสม เพราะวัยนี้ชอบหยิบของเข้าปาก และยังไม่รู้จักการระวังอันตราย

ช่วงวัย 1-2 ปี : การเล่นของลูกมีระบบมากขึ้น รู้จักเล่นหลายอย่าง และชอบการเคลื่อนไหวที่ใช้ทั้งมือ แขนและขา ดังนั้นของเล่นช่วงนี้ ควรเป็นสิ่งที่สามารถเคลื่อนไหวได้ ช่น ของเล่นที่มีล้อเลื่อน รถลาก
ลูกฟุตบอล ห้อนพลาสติกที่ตอกแล้วมีเสียงหรือตอกสิ่งของลงช่องได้ บล็อก (ก้อนไม้) รูปสี่เหลี่ยม ของเล่นที่เป็นกล่องมีช่องหรือรูให้ใส่ชิ้นส่วนเล็กๆ รูปทรงต่างๆ ดินสอสีหรือสีเทียนเพื่อให้เด็กหยิบจับและรู้จัก
ขีดเขียน หนังสือรูปภาพเพื่อชี้ชวนให้เด็กดูและฟังเสียงที่เล่า ลูกปัดสีสดใส (ขนาดใหญ่ที่เด็กกลืนไม่ได้) ให้ร้อยเชือก หรือของเล่นโดนัทใช้แยกสีใส่ลงหลัก แต่การเล่นของลูกวัยนี้จะเป็นการเล่นคนเดียว ไม่เล่นกับเด็กอื่น ถ้ามีเด็กอื่นอยู่ด้วยจะเป็นแบบต่างคนต่างเล่น

ช่วง 2-3 ปี : ลูกชอลเล่นคนเดียวตามลำพังอย่างเป็นอิศระมากกว่าการเล่นเชิงสัมพันธ์กับเด็กอื่นและมีความสุขสนุกกับการได้เล่นของเล่น โดย จะพัฒนาและซับซ้อนมากขึ้นมากกว่าช่วง 1- 2 ปี (แม้จะเป็นของเล่นชนิดเดียวกัน) ดังนั้นของเล่นวัยนี้ส่วนใหญ่ยังคงมีลักษณะเช่นเดียวกับช่วง 1-2 ปี แต่อาจเพิ่มความหลากหลายของรูปทรงหรือสีสันมากขึ้น เช่น บล็อก (ก้อนไม้) เป็นรูปทรงต่างๆ เพื่อให้ลูกพัฒนาการเล่น กรรไกรเล็กปลายมนสำหรับตัดกระดาษหรือกระดาษสีต่างๆ สำหรับฉีกและแปะตามแบบ สมุดภาพสำหรับให้ระบายสี นิทานภาพหรือภาพที่มีรายละเอียดหลายๆ อย่าง เพื่อชี้ชวนให้ลูกดู เล่าให้ลูกฟังโดยเฉพาะช่วงก่อนนอน ตุ๊กตาหรือหุ่นจำลองรูปคน สัตว์ สิ่งของต่างๆ (หรือตุ๊กตากระดาษรูปต่างๆ) เพื่อให้ลูกใช้ประกอบการเล่น เพราะการเล่นของช่วงวัยนี้อยู่ในลักษณะเล่นแบบละคร มีการพูดคุยกับตุ๊กตาที่เล่นด้วยเหล่านั้น(แต่ยังไม่ยอมให้คนอื่นเล่นด้วย) และชอบเอาเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของผู้ใหญ่มาใส่เล่น (เช่นรองเท้า) แล้วเลียนแบบท่าทางผู้ใหญ่ที่ลูกใกล้ชิดหรือพบเห็นบ่อยๆ

ช่วง 3-4 ปี : ลูกเริ่มรู้จักเล่นร่วมกับเด็กอื่นมากขึ้น แต่ของเล่นต่างๆ ยังคงเป็นที่สนใจของลูกมากกว่าการเล่นเกม ลูกเริ่มรู้จักที่จะเล่นสมมติโดยนำสิ่งของต่างๆที่มีมาใช้ประกอบการเล่นและ มีการสมมติบทสนทนาโต้ตอบในการเล่นมากขึ้น ดังนั้นของเล่นวัยนี้เหมือนกับช่วง 2-3 ปี แต่ควรเพิ่มของจำลองที่เกี่ยวกับของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น เครื่องครัวต่างๆ เครื่องนอนเพื่อให้ลูกใช้ประกอบการเล่น จัดหากระดาษรูปต่างๆ ให้ลูกตัดหัดตามเส้นเป็นรูป ตัวต่อหรือชิ้นส่วนให้ลูกวาดหรือขีดเขียนเล่นได้ (พร้อมดินสอสีต่างๆ)

ช่วง 4-5 ปี : ลูกสนใจและเริ่มให้เด็กอื่นเข้ามาเล่นหรือไปเล่นร่วมด้วย เริ่มสนใจการเล่นในลักษณะเกมต่างๆ เช่น งูกินหาง เป็นต้น แต่มักเป็นเกมง่ายๆ ไม่มีกฎเกณฑ์มากนักหรือเกมที่ต้องใช้ทักษะ เช่น กระโดดเชือก โยนลูกบอล เป็นต้น ส่วนการเล่นสมมติยังคงมี แต่จะเปลี่ยนจากตุ๊กตามาเป็นคน โดยเฉพาะคนใกล้ชิดหรือเพื่อนๆ เนื้อเรื่องที่เล่นมักเป็นเรื่องใกล้ตัวหรือเรื่องที่คุ้นเคย เช่น ครูกับนักเรียน ตำรวจจับผู้ร้าย ขายของเล่น เป็นต้น (บางครั้งพบว่าลูกชอบเล่นโดยให้พ่อแม่เป็นนักเรียน และตัวเขาเป็นครู แล้วเลียนแบบท่าทางของครูมาเล่นกับพ่อแม่) หรืออาจแสดงออกในรูปของการชอบที่จะได้เล่าเรื่องต่างๆ ให้ผู้ใหญ่ฟัง โดยมีการใช้จินตนาการร่วมด้วย (พ่อแม่ไม่ควรไปขัดจังหวะหรือต่อว่าลูกเล่าเกินความจริง แต่ควรสังเกตเรื่องที่เล่าเป็นอย่างไรเพื่อตามความคิดหรือความรู้สึกของ เด็ก) ดังนั้น วัยนี้ความสนใจของเล่นเริ่มน้อยลง แต่เกมเข้ามามีบทบาทมากขึ้น พ่อแม่ควรเข้าร่วมเล่นกับลูก และเปิดโอกาสให้ลูกๆ ได้เล่นกับเพื่อนๆ โดยคอยช่วยสนับสนุนส่วนประกอบในการเล่นหรือเตือนในสิ่งที่อาจเกิดอันตราย และการทะเลาะกันของเด็ก แต่ของเล่นในช่วงวัยที่ผ่านมาก็ยังคงเป็นที่สนใจของลูก พ่อแม่ควรเก็บไว้เป็นที่เฉพาะ ที่เด็กสามารถหยิบเล่นได้เมื่อต้องการ และฝึกให้เก็บเป็นที่เมื่อเล่นเสร็จแล้ว

โดย : ภาวิณี อ่อนนาค นักวิชาการศึกษาพิเศษ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์

ขอขอบคุณ : http://www.icamtalk.com