หน้า 3 จาก 3
นักกีฬาลงสนาม
คืนก่อนสอบให้ลูกเข้านอนเร็ว และเตรียมทุกอย่างไว้ให้พร้อมเพื่อให้สะดวกที่สุดในตอนเช้า ทราบมาว่าปีก่อนอากาศร้อนมาก แม่เตรียมพัด, ขนม, น้ำและหนังสือการ์ตูนขายหัวเราะเล่มใหม่ไปด้วย “เผื่อรอนานลูกจะได้ยังอารมณ์ดีอยู่นะครับ” ส่วนบรรดาเครื่องเขียนใด ๆ ไม่ต้องนำไปค่ะ ครูแจกปากกาแดงให้ใช้ทำข้อสอบ ขอแนะนำว่า ควรฝึกลูกให้กากบาทให้เต็มช่องด้วยนะคะ
วันนี้ก็เตรียมใจมาแล้วว่าคงเป็นวันที่วุ่นวายมาก ๆ จึงขอให้คุณตาช่วยขับรถไปส่งเพื่อจะได้ไม่กังวลเรื่องที่จอดรถ สอบเสร็จเราก็จะกลับแท็กซี่กันเอง เมื่อไปถึงโรงเรียน โอ..พระเจ้าทำไมผู้คนมากมายเช่นนี้เนี่ย ถือโอกาสบอกลูกว่า “เห็นไหมมีเด็ก ๆ อยากเข้ามาเรียนที่นี่ตั้ง 4 พันกว่าคน ถ้าลูกอยากเรียนที่นี่ วันนี้จะต้องตั้งใจฟังคุณครูพูดให้ดีเลยนะครับ"
ฝ่าฝูงชนเดินหาเต้นท์หมายเลขห้องของเราเมื่อเจอแล้ว จอมซนก็ขอไปวิ่งเล่นในสนามก่อน (เด็กน้อย ตื่นเต้นเพราะไม่เคยเจอสนามฟุตบอลใหญ่ขนาดนี้) เผลอแป็บเดียวยังไม่ทันถึงกำหนดเวลาที่จะพาเด็กขึ้นห้องสอบเลยครูพี่เลี้ยงก็มาที่เต็นท์และเริ่มขานชื่อเด็กแล้ว อ้าวกล้วยทอดซะแล้ว.. ลูกชั้นอยู่ไหนล่ะเนี่ย รีบไปตามหาเหงื่อซิกมาเลย ก็เข้าไปนั่งรอในเต้นท์นานมาก ทางโรงเรียนจัดเก้าอี้ไว้พอดีกับจำนวนเด็กที่สอบในห้องนั้น ๆ ผู้ปกครองก็พากันยืนมุงให้กำลังใจลูกหลานอยู่รอบ ๆ จึงบังลมทุกทิศทาง :( สงสารเด็ก ๆ ที่นั่งร้อนอยู่ข้างในจัง ต้องแยกกับลูกก่อนกำหนดอย่างนี้เลยไม่ทันได้เตือนสติ+เป่ากระหม่อมเล้ย...555 แม่แทรกตัวเข้าไปยื่นหนังสือขายหัวเราะให้ ลูกก็ยิ้มออกมาได้ และเข้าสู่ภวังค์ในโลกส่วนตัวของเขาไปลืมเรื่องร้อน เรื่องรอไปได้ ถึงเวลาขึ้นห้องเด็ก ๆ ก็ตั้งแถวเรียงตามเลขที่ ว่าแล้วลูกเราเป็นคนสุดท้ายของห้องจริง ๆ แล้วจะได้ยินครูอ่านข้อสอบไหมเนี่ย แล้วแต่วาสนาแล้วล่ะลูก เอาเถอะ.. เมื่อเราอยากเรียนที่นี่ อยากมาสมัครสอบเข้าโรงเรียนเขาแล้ว เราก็ต้องยอมรับกติกา วิธีการคัดเลือกและการตัดสินของโรงเรียน ส่วนอื่นที่อยู่เหนือการควบคุมของเราก็ปล่อยวางมันไปซะ
ส่งลูกขึ้นตึกแล้ว ผู้ปกครองก็มานั่งรอตามอัธยาศัย เจอรุ่นพี่และเพื่อนผู้ปกครองก็เลยได้นั่งคุยกันไปเรื่อย ๆ ผ่านไปสักชั่วโมงกว่า น่าจะเป็นเวลาพักดื่มนม มีเด็กผู้หญิงคนนึงวิ่งลงมาจากตึกสอบ ยืนเกาะเชือกร้องไห้ดังลั่นอยู่ริมสนาม (เขตกั้นด้วยเชือก ห้ามผู้ปกครองเข้า) ลูกใครหนอคุณพ่อคุณแม่ก็ไม่อยู่แถวนั้น เด็กยืนร้องอยู่สักพักคุณครูก็มาพากลับเข้าไปใต้ตึก รอจนได้เวลาเลิกสอบ ผู้ปกครองก็ต้องกลับไปนั่งรอที่เต้นท์หมายเลขห้องสอบของลูก เพื่อรอเรียกให้ไปรับเด็กทีละห้อง
พอเห็นหน้าลูก ดูเหมือนทุกครอบครัวจะถามเหมือนกันเลย เป็นไงลูก? ยากไหม? ทำได้ไหม? ครูถามอะไรบ้าง? พอเราแทรกตัวมาที่ว่าง ๆ ได้ก้มลงไปยังไม่ทันจะถาม ลูกเห็นหน้าเราก็รีบพูดซะก่อน “ลูกนั่งคนสุดท้ายแถวหลังห้อง ได้นั่งริมหน้าต่างด้วย” โอ..ลางร้ายมาแล้ว ได้ทำเลดีมากๆเลยลูก “ห้องอยู่สูงลูกดูวิวเพลินที่ต้นไม้มีกระรอกด้วยครับ ไม่ค่อยได้ฟังครูเลยมั่ว ๆ ไปหลายข้อ มองมาเห็นเต้นท์ด้วยนะ แต่ลูกไม่เห็นคุณแม่เลย ฯลฯ (อีกมากมาย)” เหรอลูก.... แม่หมดแรงพูดไม่ออกเลยจนเดินมาถึงหน้าโรงเรียน ก็หัวใจหล่นไปตั้งแต่หน้าตึกแล้ว อืม..เอาเถอะ ตอนนี้ลูกก็เล่นได้ตามสบายไม่ต้องติวอีกแล้ว ส่วนแม่...เศร้า
กลับมาพักผ่อนให้หายเศร้า แล้วก็เริ่มตะล่อมถามว่าข้อสอบถามอะไรบ้าง ที่ติวไปมีอะไรออกมั้ย คำตอบส่วนใหญ่คือ ไม่มี ไม่มี ไม่มี และจำไม่ได้ เฮ้อ.. ข้อสอบไม่ออกแบบที่ติวมาเล้ย แล้วมันสอบอะไรกันบ้างล่ะเนี่ย หลังจากจับเข้าเครื่องทรมาน แม่ก็รีดคำถามในข้อสอบออกมาได้ 6 ข้อ ดังนี้ค่ะ
- มีบล็อคเรียงต่อกันอยู่จำนวนหนึ่ง ถามว่าถ้าต้องการทำให้เป็นบันได 3 ชั้น ต้องใช้บล็อคอีกกี่อัน?
- คน ๆ หนึ่งว่ายน้ำวันแรก 2 รอบ วันที่สอง 4 รอบ วันที่สาม 6 รอบ วันที่สี่ 8 รอบ ถามว่าวันที่ 5 จะว่ายได้กี่รอบ?
และถ้าเริ่มว่ายวันแรกในวันอังคารวันที่ 5 จะตรงกับวันอะไร?
- ถ้านักเรียนมีเงิน 20 บาท จะซื้ออะไร? คำตอบมีรูปขนมและราคากำกับไว้
- มีเหยือกน้ำให้ 1 ใบ ถามว่าต้องใช้น้ำภาชนะในข้อไหนจึงจะรวมกันแล้วได้ปริมาณเท่ากับน้ำในเหยือก?
(เรื่องเหยือกน้ำนี้มีหลายคำถาม แต่กานต์จำได้ข้อเดียว)
- มีรูปมือซ้าย-ขวา และผลไม้อยู่ระหว่างมือ ประมาณนี้ x c m e o มีหลายคำถาม เช่น
ผลไม้ชนิดใดอยู่ตรงกลาง? ผลไม้ชนิดใดอยู่รองจากผลไม้ชนิดแรก?
- ให้แผนที่ชุมชนมา ถามว่าถ้าต้องการเดินจากจุดหนึ่ง ไปยังอีกจุดหนึ่งต้องเดินผ่านถนนกี่สาย?
ข้อสอบสาธิตเกษตรนอกจากมีความรู้แล้ว เด็ก ๆ ต้องมีสมาธิ ในการฟังด้วย เพราะเด็ก ๆ ไม่เห็นโจทย์คำถาม เห็นแต่ตัวเลือกของแต่ละข้อในสมุดคำตอบให้กากบาท (มีสมุดคำตอบ 2 เล่ม ๆ ละ 30 ข้อ) โชคดีที่น้องกานต์อ่านหนังสือได้คล่อง (แม่น้องกานต์ ใช้วิธีอ่านหนังสือให้ลูกฟัง โดยชี้ไปอ่านไป เหมือนคาราโอเกะ ทำอย่างนี้มาตลอด เชื่อว่า ช่วยให้กานต์อ่านหนังสือได้คล่องตั้งแต่อยู่อนุบาล) จึงเลือกคำตอบได้แม่นยำขึ้น หากฟังครูอ่านโจทย์ไม่ทันบ้าง ก็ยังพอเดาจากกลุ่มคำตอบได้ แม่น้องกานต์สอนวิธีตัดตัวเลือกที่ไม่เข้าพวกให้ กรณีฉุกเฉินที่ไม่รู้คำตอบจริง ๆ จะได้เดาอย่างมีแนวทาง และมีการคิดวิเคราะห์ เช่น เล่านิทานก่อนนอนทุกคืน แล้วตั้งคำถามให้ลูกตอบ อยากสอนลูกเรื่องอะไรเราก็แต่งเรื่องขึ้นมาเองบ้างก็ได้ อ้อ! ควรฝึกลูกให้มีสมาธิ ไม่เขวไปกับ นก ผึ้ง กระรอก บ้างนะคะ เผื่อตอนสอบเจอพวกนี้จะได้ยังมีสมาธิในการฟังครูอ่านโจทย์
วันชี้ชะตามาถึง
ญาติ ๆ ชวนกันไปเที่ยวหัวหิน กลับวันที่ประกาศผลสอบพอดี เราก็คิดว่าคงสอบไม่ติด โอกาสน้อยเหลือเกิน จึงไม่รีบร้อนอะไร เที่ยวเล่นตามสบาย ตั้งใจว่า กลับบ้านพักผ่อนก่อน ไว้ค่อยออกไปดูผลในวันพรุ่งนี้ก็ได้ ปรากฏว่ากลับถึงบ้านไม่เย็นนัก ก็เลยขับรถไปดูซะหน่อย ไปถึงโรงเรียนเกือบ 5 โมงเย็นแล้ว ด.ช.กานต์หลับอยู่ในรถโดยมีพ่อเป็นสารถี จึงเป็นหน้าที่แม่เป็นคนลงไปลุ้นที่บอร์ด ใจนึกว่า ชื่อลูก ก.ไก่ ด้วยถ้าติดก็ต้องเห็นได้ง่าย ๆ และถ้าไม่ติดก็รู้ผลเร็ว ตื่นเต้นด้วยนะ เห็นผู้ปกครองหลายคนอออยู่ในบริเวณบอร์ดกันพอสมควร โอ!! มีชื่อ ด.ช. กานต์ อยู่บนบอร์ดจริง ๆ แม่ดูจนแน่ใจอยู่นานว่านามสกุลไม่ผิดนะ ว่าแล้ว รีบกลับไปปลุกลูกมาดูชื่อตัวเองพร้อมกัน 3 คนพ่อแม่ลูกให้เต็มตาซะเลย
ความพยายามของเราเป็นผล สมกับที่ได้ทุ่มเทกันลูกทำได้จริง ๆ โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ลูกได้เรียนที่นี่แล้วนะครับ :) :)
ส่งท้าย... เล่าเรื่องสอนลูกจากสิ่งรอบตัว
กานต์มีพื้นฐานด้านเชาวน์ และการคิดวิเคราะห์ดี ทำให้สอนง่าย เข้าใจสิ่งที่แม่สอนได้เร็ว ซึ่งน่าจะเป็นเพราะได้ฝึกฝนผ่านการเล่นเกมส์เหล่านี้มานานหลายปีด้วยค่ะ
- ป้ายทะเบียนรถ เล่นบวกเลขกันไประหว่างทางค่ะ จะบวกทีละตัวเช่น 1+2+5+9 =? หรือ 12+59=? หรือเล่นหาคันที่บวกรวมได้ 20 เป็นต้น
- ลูกเต๋า ใช้สอนบวกเลข โดยใช้ลูกเต๋า 2 หรือ 3 ลูก ตามความสามารถที่เพิ่มขึ้นของเด็กค่ะ เกมส์นี้ผลัดกันโยนลูกเต๋าเพื่อตั้งโจทย์แล้วบวก แข่งกันกับพ่อแม่เค้าจะสนุกมาก
- ไพ่ ใช้สอนบวกเลข ได้หลากหลายกว่าลูกเต๋ามากแล้วแต่เราจะตั้งกติกาขึ้นมา ขอยกตัวอย่างเกมส์ที่เราเล่นกันนะคะ
- ใช้ไพ่ A-10 เท่านั้น เล่นเกมมากกว่าน้อยกว่า เบื้องต้นก็ผลัดกันเปิดคนละใบใครมากกว่าก็ชนะได้ไพ่ของคู่แข่งไป
พอเก่งขึ้นก็แจกคนละ 2 ใบแล้วให้เลือกใบที่ใหญ่สุดมาสู้กัน
- แจกไพ่จาก 1-2 ใบ เป็น 3, 4, 5 ใบ พัฒนาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ค่ะ เขาจะคิดเร็วขึ้นมองเห็นตัวเลขก็ตอบได้เลยถ้าน้อย ๆ ใบก็ไม่ต้องนับนิ้ว
- แจกไพ่ 4 ใบ ให้เลือก 2 ใบที่รวมกันได้ผลลัพธ์มากที่สุดบ้าง ผลลัพธ์ใกล้เคียงกับเลขที่เรากำหนดมากที่สุดบ้าง
- จิ๊กซอว์ บ้านเราชอบเล่นต่อจิ๊กซอว์มาก เริ่มตั้งแต่คุณยาย คุณน้า คุณแม่ และน้องกานต์ก็ช่วยต่อมาตั้งแต่เล็ก ๆ มีสะสมไว้หลายลัง วันหนึ่งเมื่อต้นปี 2552 ได้ดูรายการ “ครอบครัวเดียวกัน” ตอน เลี้ยงลูกให้ฉลาดผ่านของเล่น อาจารย์วิทยากรแนะนำให้เด็ก ๆ เล่นต่อจิ๊กซอว์ เพราะช่วยฝึกสมองและทักษะหลายส่วน เช่น การจำแนกความแตกต่าง การจัดกลุ่ม การวางแผน การสังเกต และสมาธิ
- เกมส์เศรษฐี อันนี้ฝึกเรื่องค่าของเงินธนบัตรต่าง ๆ การซื้อ การแลก การทอนเงิน และยังสอนให้เคารพกติกาในการเล่น รู้จักการรอคอยอีกด้วย
- หมากกระดาน ไว้ฝึกสมอง, สมาธิเด็ก ๆ ได้ดีค่ะ เขาต้องคิดวางแผนการเล่นการตัดสินใจเดินเพื่อเอาชนะคู่แข่ง ขณะเดียวกันก็สอนให้ยอมรับผลที่เกิดขึ้น ถ้าเดินหมากผิดพลาด สอนให้คิดก่อนทำนั่นเองค่ะ เพราะถ้าเดินมั่วเจ๊งแน่นอน บางครั้งก็มีโวยค่ะ ขอเดินใหม่ ;D ;D น้องกานต์เล่น หมากฮอส, หมากข้าม, หมากรุกไทย เป็นแล้วและตอนนี้อยากเล่นโกะมาก แต่ไม่มีใครในบ้านเล่นเป็นเลย
- หนังสือเกมส์ลับสมองสำหรับเด็ก เช่น หาทางออก โซโดกุ ปริศนาตัวเลข หนังสือเลข 100 ช่อง อันนี้ก็มาจากคุณยายอีกเช่นกัน ท่านชอบเล่นเกมส์เหล่านี้ในยามว่างจึงซื้อมาหลายเล่มเผื่อหลาน ๆ ก็ได้เรื่องความคิด การแก้ปัญหาและการวางแผน
- โบรชัวร์ แคตตาล็อคต่างๆที่มาเสียบประตูบ้าน อย่าทิ้งค่ะ ใช้ได้นะ มันมีรูปสินค้าและราคาอยู่ก็เอามาตัดเป็นชิ้น ๆ เล่นซื้อของกัน ได้ฝึกกล้ามเนื้อมือและหลอกให้ลูกเล่นเกมส์คิดเลขได้ด้วย
- คอมพิวเตอร์ ดาบสองคมที่หลายๆครอบครัวต่อต้าน แต่ในความเห็นของเรา คอมพิวเตอร์ช่วยให้ลูกฉลาดขึ้นได้มากจริง ๆ มีทักษะการสังเกตุ การเชื่อมโยงเหตุผล เลือกเกมส์ดี ๆ ที่ฝึกเชาวน์ และวิชาการค่ะ มีมากมายและจำกัดเวลาให้เหมาะสมกับวัย
นี่เป็นเพียงบทพิสูจน์หนึ่งว่า ครอบครัวธรรมดา ๆ อย่างเราก็สามารถผลักดันลูกสอบเข้าโรงเรียนสาธิตได้ ถ้าร่วมใจกันทั้งครอบครัว ดังนั้นอยากพูดว่า “คนที่ตั้งใจสอบแล้วอย่าท้อถอย ส่วนคนที่ไม่เคยคิดสอบควรจะเปิดโอกาสให้ลูกหรือไม่? เหมือนที่แม่น้องกานต์เกือบจะพลาดและทำให้ลูกเสียโอกาสไป ทุกคนมีสิทธิที่จะหวัง และมีโอกาสสำเร็จได้เช่นกันค่ะ”
ท่านอาจารย์ใหญ่พูดในวันประชุมผู้ปกครองว่า พวกเรามีบุญร่วมกันมาจึงได้มาอยู่ร่วมในรั้วเดียวกัน ดังนั้นเมื่อทำดีที่สุดแล้วก็ทำใจให้สบาย สอบได้หรือไม่ก็ยังมีหนทางดี ๆ ให้เลือกเดินอีกมากมาย เพราะที่เรียนเด็กเก่งนั้นล้วนมีครอบครัวเป็นแรงสนับสนุนที่สำคัญอยู่เบื้องหลังทั้งนั้น โรงเรียนดี ๆ เป็นเพียงส่วนประกอบหนึ่งที่ช่วยแบ่งเบาภาระของพ่อแม่ ไม่ว่าลูกเรียนที่โรงเรียนไหนถ้ามีผู้ปกครองดูแลกวดขันเรื่องเรียนก็เก่งได้ทุกคนค่ะ
ป.ล. เรื่องเล่านี้เขียนเมื่อปี พ.ศ. 2553 ตอนที่กานต์อยู่ ป.2 โรงเรียนสาธิตเกษตร โพสต์ไว้ในเว็บบอร์ด ต่อมาต้องปิดเว็บบอร์ดเพราะมีโพสต์ที่ไม่เหมาะสมจำนวนมาก และได้นำกลับมาลงเป็นบทความเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่มีประโยชน์ ขณะนี้ ปี พ.ศ. 2558 กานต์เรียนชั้น ม.1 ที่โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)