การฝึกซ้อมฟุตบอลหน้าร้อน (ต้องระวัง ?)
การฝึกซ้อมฟุตบอลหน้าร้อน (ต้องระวัง ?)
โดย : อ.พิทักษ์ ศุภบัณฑิตย์กุล
ประวัติผู้ฝึกสอน คลิ๊กที่นี่
สวัสดีครับ เผลอเดี๋ยวเดียว หน้าร้อนย่างกรายเข้ามาแทนที่ แต่ก็ยังมีหน้าฝนปนเข้ามา เด็กเล็ก เด็กโตต่างป่วยไข้กัน ส่วนผู้ฝึกสอนไม่สามารถป่วยได้เพราะมีหน้าที่ต้องคอยสอนเด็กๆ (ห้ามป่วย ห้ามลา) คุยกันคลายเครียดนะครับ คนเรามีโอกาสป่วยไข้กันทั้งนั้น แต่ลดโอกาสป่วยได้จะดีมาก ช่วงเดือนเมษายน มีกิจกรรมการเรียนกีฬาช่วงซัมเมอร์กันหลายแห่ง ผู้ปกครองหลายท่านติดตามข่าวสารเพื่อหาที่เรียนกีฬาให้ลูกๆ ช่วงปิดเทอมกัน ผมเองได้รับการสอบถามจากหลายท่าน ส่วนใหญ่เด็กจะอายุ 6 – 8 ปี ก็เป็นเรื่องดีที่เด็ก ๆ ได้รับการส่งเสริม แต่น้องๆ ที่อายุช่วงนี้ยังขาดเรื่องความอดทน ทั้งเรื่องของกล้ามเนื้อ การปรับสภาพร่างกาย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไปรับการฝึกซ้อมกีฬาอย่างจริงจังไม่ได้
ว่ากันเรื่องของการฝึกซ้อมกีฬาของน้องๆ รุ่นอายุ 6-8 ปี เราเองก็จะเห็นว่าเด็กๆ ตัวเล็กๆ รุ่นนี้เขายังดูเป็นเด็กๆ เล็กๆ ที่วิ่งเล่นไปมา ยังเอาเรื่องเอาราวอะไรไม่ค่อยจะได้ แต่อย่าลืมว่าพวกเขามีโครงสร้างที่พร้อมจะโต กล้ามเนื้อที่อ่อนปวกเปียกสามารถรับการฝึกได้ระดับหนึ่งที่ไม่เกิดแรงต้าน กับกล้ามเนื้อ หมายถึงการฝึกรูปแบบใดๆ ที่จะไม่ไปเกิดการฝืนหรือก่อให้เกิดแรงต้านทานกับการฝึกนั้นๆ มากเกินไป เพราะกล้ามเนื้อของเด็กๆ จะได้รับการกระทบกระเทือนอย่างแรง มีผลให้เกิดการอักเสบ หรือภาวะเจ็บแบบที่เด็ก หรือผู้ปกครองอาจเข้าใจว่าเป็นการเคล็ดขัดยอก แต่จริงๆ มีผลถึงกล้ามเนื้อที่ส่งผลในระยะยาวได้ (หมายถึงการเกิดกล้ามเนื้อแกร็น หรือโตได้ไม่เต็มที่) ดังนั้นเรื่องที่เตือนเรื่องแรกก็คือ ควรศึกษาหรือสอบถามแหล่งอบรมกีฬานั้นๆ ถึงหลักสูตร หรือขั้นตอนการฝึก ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่แต่ละแหล่งที่เปิดฝึกจะปิดบัง ปัจจุบันนอกจากการกีฬาแห่งประเทศไทย และศูนย์กีฬาของรัฐฯ มักจะมีเจ้าหน้าที่ให้ความรู้ความเข้าใจ ส่วนศูนย์ฝึกกีฬาฟุตบอลต่างๆ ที่เปิดสอนก็มีผู้ฝึกสอนที่ผ่านการอบรมแล้วเกือบทั้งสิ้น ผมคงไม่ฟันธงบอกว่าที่ไหนดี แต่ขอเตือนเป็นเรื่องแรก คือเรื่องของการฝึกที่จะไม่หนักเกินไป การฝึกหนักหมายถึง การฝึกที่จริงจัง สัมพันธ์กับอายุ เวลา และขั้นตอนที่ถูกต้อง ไม่ใช่การฝึกโหมอย่างหนักหน่วง เพราะมันไม่ได้ทำให้เด็กโตขึ้นเป็นนักกีฬาที่ดี เพียงแต่เป็นนักกีฬาที่เก่งกว่าเพื่อนรุ่นเดียวกัน
การพักผ่อนที่เพียงพอ เป็นอีกเรื่องที่ต้องช่วยกัน เด็กๆ มักจะได้รับสิทธิ์พิเศษช่วงปิดเทอมให้สามารถนอนดึกได้ เล่นเกมส์คอมพิวเตอร์ได้
เหล่านี้อาจเป็นปัจจัยให้เด็กนอนดึก และการซ้อมกีฬากลางแดดจะทำให้เด็กเพลียมากกว่าปกติ การดื่มน้ำชดเชยอาจไม่ได้ผลทันที เพราะเด็กต้องการเวลาพักผ่อน เด็กอาจป่วยเป็นไข้เพราะร่างกายอ่อนเพลียเกินไป
อีกเรื่องที่ขอฝากไว้ก็คือเรื่องของน้ำดื่มหรืออาหาร เน้นว่าช่วงหน้าร้อนน้ำดื่มควรเป็นน้ำสะอาด อันดับแรก งดน้ำอัดลม เพราะจะทำให้เด็กท้องอืด แต่ก็สามารถดื่มได้ช่วงพักผ่อนหลังการฝึกซ้อมแล้ว ส่วนน้ำหวานการดื่มควรผสมน้ำมากหน่อย คือเจือจางความหวานลงไม่น้อยหรือมากเกินไป เพราะจะช่วยให้เด็กๆ ดื่มได้ง่ายไม่เหนียวคอ และช่วยเรื่องของการดูดซับสารอาหาร คิดง่ายๆ ก็คือ ของที่เหนียวมากก็ทานยาก ต้องใช้เวลาเคี้ยว เพื่อให้ย่อยง่าย
การนำเด็กๆ เข้าพักในรถที่เปิดแอร์เย็นฉ่ำไว้รอ ไม่ใช่เรื่องดี จะทำให้เด็กป่วยได้ ดีกว่าคือ นำผ้าขนหนูชุบน้ำหมาดๆ มาเช็ดหน้า แขน ขา ลำตัว หรือผ้าขนหนูแห้งมาเช็ดเหงื่อเขาแล้วพาดคอไว้ก่อน อุณหภูมิในร่างกายของเด็กที่ตากแดดมาร้อนๆ จะค่อยๆ คลายความร้อนออกมา ชวนเขาคุยถึงการฝึกซ้อมว่าเป็นอย่างไร สนุกไหม สักครู่ให้เขาผ่อนคลาย แล้วค่อยให้เขาเข้าพักในรถ
ท้ายสุดก็คงต้องฝากผู้ปกครองทุกท่านช่วยกันดูแลสุขภาพลูกหลานและตัวท่านเอง แล้วค่อยมาคุยกันใหม่ในตอนต่อไปครับ
ติดต่อหรือสอบถามรายละเอียดได้ที่
อาจารย์พิทักษ์ ศุภบัณฑิตย์กุล
โทร. 080-552-3609
อีเมล์ pitak_immanuel@yahoo.com