รู้จักกับแนวทางการศึกษาที่ผนวกความรู้ทางด้าน วิทยาศาสตร์, เทคโนโลยี, วิศวกรรมศาสตร์, คณิตศาสตร์ และ การพัฒนาทักษะต่าง ๆ ที่มีความสำคัญต่อการเตรียมความพร้อมสำหรับการเผชิญหน้ากับความท้าทายในโลกยุคใหม่ click! ที่นี่
ฝึกบวกเลขไปกับเกมสนุก ๆ ในร้านฟาสต์ฟู้ด! เด็ก ๆ จะสนุกกับการคำนวณและรู้สึกเหมือนเป็นมือโปร! click! ที่นี่
วิทยาศาสตร์การกีฬากับนักฟุตบอลเยาวชน
โดย : อ.พิทักษ์ ศุภบัณฑิตย์กุล
ประวัติผู้ฝึกสอน คลิ๊กที่นี่
สวัสดีครับ วันนี้มีโอกาสได้เขียนเรื่องราวของกีฬาฟุตบอลกับนักฟุตบอลระดับเยาวชน หรือยุวชน หลายท่านสงสัยว่าต่างกันหรือไม่ ตอบได้ว่าต่างกันครับ ยุวชนหมายถึงเด็กตัวเล็กๆ ที่หัดเล่นกีฬา อายุระหว่าง 5-11 ปี ส่วนเยาวชนเริ่มระหว่าง 12-18 ปี เกณฑ์ที่ผมกล่าวมา เป็นช่วงที่แบ่งตามการเล่นกีฬานะครับ ไม่ครอบคลุมเรื่องอื่น มีเรื่องน่าสงสัยที่ผมได้ยินบ่อยมากจากกลุ่มผู้ปกครองเด็กๆ ที่มาเรียนฟุตบอลกับผมหลายเรื่อง อย่างเช่น ทำไมนักฟุตบอลระดับเยาวชนทีมชาติของไทยเวลาเล่นตอนเด็กๆ เก่งมาก พอโตขึ้นกลับฟอร์มไม่ประทับใจเหมือนเห็นตอนเด็กๆ หรือหนักหน่อยก็คือหายไปจากสารบบเลยไม่รู้ว่าหายไปไหน หรือบางครั้งก็สงสัยว่าลูกหลานตัวเองที่มาเรียนทำไปวิ่งไม่เร็วเลย ขาดสปีดต้นบ้าง แรงปะทะสู้เพื่อนๆ ไม่ได้บ้าง ทำไมเวลาวิ่งไม่ดูแข็งแรงเลย ทำไมดูเฉื่อยชาเวลาเล่น และอีกหลายๆ อย่างที่เป็นคำถามแต่ผมขอชี้แจงเรื่องน่าสงสัยที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากๆ ที่เราท่านอาจทราบแต่มองข้ามไป หรือบางท่านไม่ทราบเลยมาก่อน โอกาสดีๆ อย่างนี้เรามาคุยกันในเรื่อง “ วิทยาศาสตร์การกีฬากับนักฟุตบอลเยาวชน ” กันดีกว่าครับ
โภชนาการสำคัญอันดับหนึ่งแต่มักมาอันดับสอง
นักรบเดินด้วยท้อง ฉันใดนักกีฬาขาดการบำรุงด้วยอาหารที่ดีย่อมขาดประสิทธิภาพในการแข่งขัน ผมกล่าวเช่นนี้เพราะโภชนาการสำหรับนักกีฬาถือเป็นเรื่องสำคัญมากๆ ผมจัดให้เป็นอันดับหนึ่งเพราะ นักกีฬาที่ดีย่อมเริ่มจากการมีร่างกายที่พร้อมสมบูรณ์ มีการบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ มีการเตรียมความพร้อมโภชนาการมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ดื่มนม และอาหารหลัก 5 หมู่อย่างถูกต้อง เรื่องง่ายๆ ที่ถือเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับนักกีฬาตัวน้อยๆ เราเองไม่ควรละเลย หลายท่านบ่นเรื่องการไม่ยอมทานอาหารของลูก อาจมาจากการห่วงเล่น ทานอาหารยาก เลือกที่จะไม่กินผัก ไม่กินนม บางท่านผมเจอมากับตัวเอง ลูกชายอายุ 11 ปี เป็นนักกีฬาฟุตบอลของโรงเรียน ฝึกฟุตบอลกับทางโรงเรียนทุกเย็นเสาร์อาทิตย์มีแข่งตลอด คุณคิดดูว่าเด็กอายุ 11 ปี ต้องฝึกกีฬาวันละ 2-3 ชั่วโมง ตลอดสัปดาห์ และช่วงวันหยุดก็ต้องไปแข่งขัน สภาพร่างกายกรอบแน่ๆ ครับ
ด้วยความที่ผู้ปกครองเองก็รักที่จะเห็นลูกแข่งขัน และซ้อมอย่างหนัก หวังดีครับแต่ไม่ได้มองผลที่จะเกิดขึ้นตามมา ผมเคยเตือนและให้คำแนะนำเนื่องจากเด็กคนนี้เคยฝึกอยู่กับผมช่วงหนึ่ง คุณแม่ของเด็กถามว่าทำอย่างไรลูกชายจึงจะตัวใหญ่ขึ้นเพราะลูกไม่ยอมกินนม และกินข้าวน้อย ผมเองมองเห็นทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับเด็ก จึงลองพูดให้คุณแม่ของเด็กลองทบทวนดูว่า สาเหตุที่เด็กไม่กินนมบำรุงร่างกายเพราะเด็กไม่ยอมกิน หรือขาดการบังคับเพราะบางเรื่องผู้ปกครองต้องใจแข็งพยามยามให้เด็กกินนม กล่อง หรือนมสด ซึ่งไม่เป็นพิษอะไรกับเด็ก อาจมีผลบ้างเล็กน้อยตัวอย่างเช่นเด็กอาจท้องอืดบ้าง แต่ในเด็กวัยนี้จะไม่ค่อยมีปัญหาอะไร อาจลองหลายยี่ห้อ หรือลองเปลี่ยนนมว่าเป็นนมกล่อง หรือนมสด อย่างไหนที่เด็กพอกินได้
เรื่องการทานข้าวต้องให้ตรงเวลา อย่าปล่อยให้เล่นเลยเวลาทานข้าวเด็กจะเคยตัวและทานข้าวไม่ได้เนื่องจากอาจ กินขนมขบเคี้ยวไปมาก หรือกินน้ำหวานไปมาก ตรงนี้เรื่องสำคัญเลย เพราะรายของเด็กคนนี้ชอบกินน้ำหวานมาก และกินมากกว่าปกติ ผมจึงชี้แจงไปว่า น้ำหวานให้สารอาหารประเภทน้ำตาล คือกินเข้าไปแล้วช่วยเรื่องภาวะขาดน้ำตาล และน้ำในร่างกาย ไม่ได้ช่วยในเรื่องของการให้พลังงานเหมือนข้าว สิ่งที่เกิดขึ้นกับเด็กในตอนนี้ก็คือ การซ้อมฟุตบอลที่หนักเกินไป ร่างกายขาดน้ำมาก และอ่อนเพลีย ต้องการน้ำและน้ำตาลไปเลี้ยงร่างกาย ทว่าเมื่อกินน้ำหวานและขนมหวานๆ เข้าไปมากเกินไปจึงเกิดอาการอิ่มแน่นท้อง ไม่สามารถกินข้าวเข้าไปได้อีก ในปริมาณที่เพียงพอต่อการใช้พลังงาน ร่างกายก็ทรุดโทรมลง กล้ามเนื้อก็เริ่มแห้ง ขาดสภาพการฟื้นฟูที่เหมาะสม สรุปก็คือ ร่างกายอยู่ในภาวะที่ถูกเร่งให้แข็งแกร่งก่อนวัยอันควร กลายเป็นกล้ามเนื้อที่ขาดการเติบโตต่อเนื่องตามวัยหรือที่เรียกว่า “แกร็น” สาเหตุก็เกิดจากการซ้อมหนัก หรือโอเวอร์ เทรนนิ่ง เด็กอาจดูมีความคล่องตัว แข็งแรง แต่นี่ไม่ใช่วัยที่เราจะฝึกเขาอย่างหนัก เพียงเพื่อให้สามารถแข่งขันเอาชนะเพื่อนรุ่นเดียวกัน
หลังจากผมได้ชี้แจงเรื่องนี้ไปแล้ว ผมเองก็ได้เฝ้ามองผลว่าจะได้มีการแก้ไขตามที่ผมแนะนำไปหรือไม่ ผลก็คือหลังจากนั้นอีกสองปีกว่า เด็กคนนี้โตขึ้นเล็กน้อยจากเดิม เมื่อเทียบกับเพื่อนรุ่นเดียวกันคือ 13 ปี เพื่อนๆ โตกว่ามาก มีพัฒนาการทางร่างกายที่สมบูรณ์ ตามวัย สอบถามผู้ปกครองก็คือ เด็กยังคงซ้อมหนักเพื่อความสำเร็จในการแข่งขันระดับกีฬานักเรียนมากกว่าที่ จะเตรียมความพร้อมสู่การเป็นนักกีฬาที่แท้จริงในช่วงอายุ 18 ปี นี่จึงเป็นอีกกรณีศึกษาที่ผมหยิบเอามาเล่าให้ฟังถึงภาวะโภชนาการที่ท่านทั้ง หลายปล่อยให้มันผ่านไปแล้วเราจะไม่อาจสร้างฟื้นกลับมาได้อีกเมื่อเด็กเติบโต ไปตามวัย และจากความที่ร่างกายขาดสารอาหารที่เสริมสร้างกล้ามเนื้อและพลังงานสะสม เพียงอย่างแรกที่ผมกล่าวมาก็น่าจะเห็นภาพได้บ้างว่า เยาวชนของเราจะเติบโตเป็นนักกีฬาที่ดีได้อย่างไร หากเราท่านยังคงปล่อยให้เรื่องลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้น
ฝึกจริงจังกับฝึกอย่างหนักหน่วงต่างกันอย่างไร?
นี่เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ผมจะนำมากล่าวต่อเนื่องจากหัวข้อแรก หลังจากที่เราทราบถึงความสำคัญของโภชนาการแล้ว เรื่องต่อมาก็คือ เรื่องของการฝึกซ้อม ตัวผมเองผ่านงานฝึกสอนฟุตบอลสำหรับเยาวชนมาหลายแห่ง ลูกศิษย์ก็นับแล้วหลายร้อยคน มีมาให้เห็นรูปแบบต่างๆ ทั้งแบบที่ขาดความคล่องตัว เฉื่อยชา เดินยกขาแทบไม่ขึ้น พวกยิ้มหวานสอนอะไรก็พยักหน้าเข้าใจ แต่มักทำได้ช้ากว่าเพื่อน หรือทำได้ครั้งสองครั้งเดี๋ยวก็กลับมาทำผิดเรื่องเดิมอีก สำหรับวงการกีฬาเราเรียกอาการแบบนี้ว่าพวกเฉื่อย หรือพวกความจำสั้น ไม่ได้ว่าด้วยความโกรธหรือกล่าวถึงปมด้อยของเด็ก แต่ผมกำลังจะเล่าให้ฟังถึงเด็กกลุ่มนี้ว่า นี่หละโจทย์ยากที่หากคุณผ่านไปได้คุณคือคนที่มีความอดทนสูงและความสามารถใน การสอนของคุณเข้าขั้นยอดเยี่ยมเลยทีเดียว
การฝึกอย่างหนักหน่วง ย่อมมีตัวแปรคืออายุและสภาพร่างกายของเด็ก ในแต่ละช่วงอายุ จะมีเกณฑ์ความสามารถในการฝึกที่ต่างกัน คือเด็กที่อายุ 6-8 ปีขึ้นไปจะเน้นเรื่องของการฝึกการเคลื่อนที่มากกว่าการฝึกในเรื่องของเทคนิค การเล่นที่ยาก และจะไม่ใช้การฝึกที่ฝืนแรงต้าน หรือฝึกเพื่อสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ แต่จะใช้รูปแบบการฝึกที่ทำให้เด็กวิ่งลักษณะต่างๆ สร้างสมดุลของร่างกาย การจัดความสัมพันธ์ของร่างกาย เหล่านี้คือเรื่องที่ต้องนำมาฝึกเด็กกลุ่มนี้ และเมื่อเด็กอายุเข้าสู่ช่วงวัย 9-11 ปี เราก็จะเพิ่มความยากในการฝึกขึ้นอีกโดยเพิ่มเรื่องของเทคนิคและการเคลื่อน ไหว พอเลยจากช่วงนี้ไปเราก็ได้นักกีฬารุ่นเยาว์ที่มีความพร้อมที่จะเรียนรู้ เรื่องของเทคนิคและเกมการเล่น เราไม่ต้องเคร่งเครียดกับการฝึกพวกเขามาก เพราะร่างกายเขามีความพร้อม กล้ามเนื้อเขาสามารถรับการฝึกที่หนักขึ้นตามวัยได้ เทคนิคและการสร้างการเรียนรู้เรื่องความสัมพันธ์ของร่างกายช่วยให้เขามี บุคลิกที่เป็นนักกีฬา
ต่างๆ เหล่าที่กล่าวมานี้เป็นเรื่องใกล้ตัวแต่หลายท่านเข้าใจผิด โดยมุ่งเน้นให้เด็กตัวเล็กๆ ฝึกซ้อมอย่างหนัก เพื่อให้เขาวิ่งได้เร็ว แข็งแรง เบียดปะทะได้ดี และเน้นความอดทนโดยให้ทานน้ำเมื่อเวลาล่วงไปนานเกินไป อย่าลืมว่าเด็กก็คือเด็ก เด็กไม่ใช่ผู้ใหญ่ที่ย่อส่วนลงไป สภาพกล้ามเนื้อ ความทนทาน มันต่างกันมาก อารมณ์และจิตใจก็ต่างกัน เด็กก็คือเด็ก เราฝืนเขาในทุกเรื่องหรือบางเรื่องแต่มันอาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงกับเขาก็ ได้ อย่างเช่นการฝึกซ้อมที่หนักเกินไป คิดง่ายๆ ว่าคุณลองซ้อมกีฬาทั้งสัปดาห์และเก็บตัวอยู่กับที่พัก อาหารการกินก็แค่พออิ่มไปมื้อหนึ่ง ไม่สมดุลกับการใช้พลังงานในการฝึกซ้อมของแต่ละวัน เชื่อเถอะว่าคุณไม่สนุกกับการใช้ชีวิตเช่นนี้แน่ๆ แล้วกับเด็กตัวเล็กๆ ที่เขาไม่ได้ใช้เวลาว่างเล่นสนุกเพื่อผ่อนคลาย และไม่ได้ใช้เวลาปรับสภาพร่างกายตามธรรมชาติที่เขาควรเป็น ผลที่ตามมาจากการทำเช่นนี้ก็คือ ผู้ปกครองจะเห็นการเล่นของเด็กที่ตื่นเต้น เร้าใจ ชนะทีมอื่นๆ ได้ไม่ยากนัก และความชื่นชมก็จะเกิดขึ้นเช่นนี้ในช่วงเวลาไม่นานนัก เมื่อเด็กโตขึ้นแล้วปรากฏว่า กลายเป็นเด็กที่เตี้ย แกร็น ฝึกอะไรแล้วก็ไม่เก่งเท่าที่ควร เพราะเด็กขาดความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ
การฝึกซ้อมอย่างจริงจังที่ผมบอกก็คือ การฝึกซ้อมที่ถูกต้อง มีรูปแบบการฝึกที่ชัดเจน ได้ประโยชน์ต่อร่างกาย ไม่หนักเกินไปกับวัยของนักกีฬา และมีการฝึกซ้อมอย่างต่อเนื่อง เราน่าจะได้นักกีฬาดีๆ จากการช่วยกันสร้างพื้นฐานการผลิตนักกีฬาเช่นนี้มากมาย และปัจจุบันสถาบันฝึกฟุตบอลก็มีหลายแห่ง มีโค้ชเก่งๆ มาให้ความรู้หลายคน เราอาจจะเห็นเด็กๆ ลูกหลานของเราแพ้กับเกมการแข่งขันวันนี้ ทว่าวันหนึ่งเราจะเห็นเขาโตขึ้นมาเป็นนักกีฬาที่มีความสามารถ อาจเป็นนักกีฬาอาชีพได้ไม่ยาก เพราะความพร้อมที่เราส่งเสริมให้เขาในตอนเด็ก ซึ่งดีกว่าส่งเสริมและสร้างนักกีฬาตัวน้อยๆ เพื่อให้เขาทำตามใจเราที่อยากให้เป็นเพียงแค่เวลาไม่กี่ปี
วิทยาศาสตร์การกีฬา นำพาความรู้สู่ปัจจุบันและอนาคต
ผมต้องสรุปให้ตามหัวเรื่องที่ผมนำมาคุยกันในตอนนี้ นั่นคือ วิทยาศาสตร์การกีฬา เป็นศาสตร์ที่เราท่านทราบกันดีว่า มันคือเรื่องจริงที่ตั้งสมมติฐาน มีการค้นคว้า ทดลอง และพิสูจน์ได้ ผมนำเรื่องวิทยาศาสตร์การกีฬากับการพัฒนานักกีฬาฟุตบอลระดับเยาวชนมาเป็น ประเด็นเพราะผมเห็นเรื่องที่เล่ามาข้างต้นอย่างมากมาย และก็เสียดายกับการที่เราจะปล่อยให้เด็กๆ โดนกระทำเช่นนี้จากความหวังดีแต่ขาดความรู้ความเข้าใจ ยังมีเวลาครับ เรามาช่วยกัน วิทยาศาสตร์การกีฬาอยู่ที่ไหน อยากรู้รายละเอียดที่ผมนำมาเล่ากันก็ติดต่อมาที่ผม หรือเข้าไปที่เวบไซต์ของการกีฬาแห่งประเทศไทย www.sat.co.th หรือลองเข้าห้องสมุดค้นหาหมวดวิทยาศาสตร์การกีฬา ช่องทางการเรียนรู้มีหลายช่องทางครับ สำหรับท่านที่เป็นโค้ชฟุตบอลระดับเยาวชน ที่ยังไม่ได้อบรมโค้ชระดับซี ไลเซนส์ หรือการอบรมโค้ชโดยสมาคม หรือหน่วยงานการกีฬา ก็ลองหาความรู้เพิ่มเติมกันนะครับ โอกาสหน้าพบกันใหม่ สวัสดีครับ
|
|
www.karn.tv สื่อการสอนระดับ อนุบาล - ประถมต้น (ช่วงชั้นที่ 1) รวมแบบฝึกหัด ตัวอย่างข้อสอบ กิจกรรมเพิ่มทักษะ ข้อมูลการศึกษา โรงเรียน |