ป้ายโฆษณา



ป้ายโฆษณา

ก่อนซื้อโทรศัพท์มือถือ หรือคอมพิวเตอร์มือสอง ตรวจ S/N ที่แจ้งหาย/ถูกขโมยที่นี่!! BlockSerial.Com



Momoji ชุดนอน เด็ก ลิขสิทธิ์ Disney ดิสนีย์ ลาย Mickey MouseMomoji ชุดนอน เด็ก ลิขสิทธิ์ Disney ดิสนีย์ ลาย Mickey Mouse คลิ๊กที่นี่!


ลูกกับภาษาที่ 2..3...4

พิมพ์อีเมล

( 5 Votes )


ลูกกับภาษาที่ 2..3...4

ว่ากันว่า ในปัจจุบันการเรียนรู้แค่ภาษาไทยเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอต่อลูกน้อย ที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ในโลกโลกาภิวัตน์ใบนี้เสียแล้ว ความจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ภาษาที่ 2 และ 3 จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ แต่จะเรียนอย่างไรให้เข้าใจ ให้เกิดการพัฒนา เกิดการเรียนรู้ และตัวลูกน้อยเองก็มีความสุข ที่สำคัญจะเริ่มเรียนรู้กันได้ตั้งแต่วัยไหนและควรเริ่มต้นอย่างไร
เอ๊ะ แล้วภาษาไทยของเราล่ะ จะมองข้ามไปเลยดีไหม ในเมื่อเทรนด์ใหม่ๆ มาแรงเหลือเกิน ?

อังกฤษ...ภาษาที่ 2 ยอดฮิต
คุณครูสมศรี ธรรมสารโภณ อาจารย์พิเศษสถาบันภาษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจารย์ศูนย์ภาษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเจ้าของโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษคุณครูสมศรี เล่าให้ฟังว่า
"ความจริงสถานการณ์ภาษาอังกฤษในประเทศไทย จะเรียกว่าเป็นภาษาที่ 2 คงไม่ถูกนัก เพราะไม่ได้มีการนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน ส่วนใหญ่จะจบลงที่ห้องเรียนเท่านั้น ฉะนั้นเด็กไทยจึงไม่เก่งในเรื่องของภาษาอังกฤษเท่าใดนัก ซึ่งเด็กที่เก่งภาษาอังกฤษในสมัยนี้ มักจะเรียนรู้ด้วยตนเองเสียส่วนใหญ่ ฉะนั้นถ้าคุณพ่อคุณแม่ต้องการที่จะให้เด็กเรียนรู้ภาษาอังกฤษให้เข้าใจ และมีประสิทธิภาพ คุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องเรียนรู้วิธีการสอนก่อนค่ะ
สำหรับวัยที่เด็กสามารถเริ่มต้นเรียนภาษาอังกฤษได้นั้น เริ่มได้ทุกวัย ไม่จำเป็นต้องรอให้โต เพราะภาษา คือทักษะ ที่เน้นการฝึกใช้เพื่อให้เกิดความชำนาญ จะต่างกันเพียงแค่ต้องจัดสิ่งแวดล้อในการเรียนรู้ และเทคนิคการนำเสนอเพื่อให้เหมาะกับเด็กในแต่ละวัย ซึ่งวิธีการเรียนการสอนจะแบ่งเป็น 2 วิธีด้วยกัน คือ การเรียนรู้แบบ Acquisition หรือ การเรียนรู้แบบธรรมชาติ และการเรียนรู้แบบ learning
การเรียนรู้แบบ Acquisition หรือเรียนรู้แบบธรรมชาติ จะ ต้องจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมด้วย คือ ปกติเวลาคุณแม่จะป้อนอาหารเด็ก เราจะใช้คำพูดว่า หม่ำๆๆ เมื่อพูดสัก 10 ครั้งเด็กก็จะเข้าใจแล้วว่า หม่ำๆ คืออะไร ไม่ต้องอธิบาย การที่จะสอนเด็กพูดภาษาอังกฤษก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ถ้าคุณพ่อคุณแม่ป้อนนมเขาไปเรื่อยๆ แล้วบอกว่า drink milk เป็นประจำ เด็กก็รู้แล้วว่า คำว่า drink milk หมายความถึงอะไร วิธีการนี้เป็นเหมือนการเชื่อมโยงการกระทำทุกอย่างให้เด็กเห็นแล้ว พยายามพูดภาษาอังกฤษประกอบ
ส่วนการเรียนรู้แบบที่ 2 คือ learning ถือเป็นการเรียนรู้ในชั้นเรียน ซึ่ง การเรียนรู้แบบนี้เด็กจะทำข้อสอบเก่ง เพราะมีคนป้อนให้ แต่เด็กจะจำแต่ตัวทฤษฎีเท่านั้น พอถึงเวลานำไปใช้จะใช้ไม่ถูก เพราะการเรียนการสอนจะจบลงแค่ในห้องเรียน จากนั้นเด็กก็จะขาดแรงจูงใจในการนำภาษาอังกฤษไปใช้ในชีวิตประจำวัน คุณพ่อคุณแม่ควรจะสอนเด็กให้รู้สึกว่า การเรียนคือ การเล่น
นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่ต้องวางเป้าหมายและจุดประสงค์เอาไว้ด้วยว่าจะสอนอะไร คำศัพท์ เสียง และโครงสร้าง จะต้องสัมพันธ์กัน เช่น ถ้าต้องการให้ลูกใช้ประโยคสั้นๆ ต้องมีการย้ำบ่อยๆ จะทำให้เกิดทักษะความชำนาญ (Fluency) ได้ แต่ถ้าต้องการให้ออกเสียงได้ถูกต้อง ก็ต้องเชื่อมโยงคำที่เขาพูดได้ เช่น milk เยอะๆ คำว่า bath ถ้าเด็กพูดไม่ได้ก็ให้ออกเสียงที่คล้ายคลึงโดยเด็กอาจจะออกเสียงเป็น บาท ก็ได้
อย่างไรก็ตามคุณพ่อคุณแม่ก็สามารถสอนเป็นประโยคเลยก็ได้ ใช้วิธีพูดภาษาไทยกับคำศัพท์ภาษาอังกฤษไปพร้อมกัน โดยอาจจะผูกประโยคให้มีความหมาย เช่น ถ้าอยากตัวหอม ต้อง I take a bath นะคะ เป็นต้น เมื่อเด็กเริ่มที่จะโตขึ้น ก็ควรจะปรับประโยคให้ซับซ้อน และเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเขา

สอนให้เด็กกล้า เพื่อพัฒนาการทางภาษา
"ความกล้าในการแสดงออก กับการพัฒนาการใช้ภาษามีความสัมพันธ์กัน ฉะนั้นการสอนเด็กจะต้องเสริมแรงบวก (Positive Reinforcement) เข้าไปด้วย มีการชม ให้รางวัล เมื่อเด็กพูดผิดก็ค่อยแก้ไข อย่าดุด่าว่ากล่าว เพราะต้องพยายามทำให้เด็กเกิดความสนใจในการใช้ภาษาก่อน แล้วจึงค่อยพัฒนาไปสู่การแก้ไขให้เกิดความถูกต้อง (accuracy) ฉะนั้นแล้ว คุณพ่อคุณแม่ห้ามท้อแท้นะคะ ถ้าลูกปฏิเสธ แต่ก็อย่าพยายามยัดเยียดให้ลูก
ถ้าเป็นไปได้คุณพ่อคุณแม่ต้องพยายามมีอารมณ์ขัน จึงจะถ่ายโอนภาษาได้อย่างสดใสและน่าเรียน ด้วยการสอนเด็กๆ ประกอบกับการ์ตูน หรือว่านิทานที่เด็กชอบ พร้อมกับสอดแทรกคำภาษาอังกฤษไปด้วย ถ้าจะให้ดีขึ้นไปอีกให้เลียนเสียงเหมือนในการ์ตูนที่เด็กชอบไปเลย เด็กจะได้รู้สึกสนุกไปกับการเรียน ไม่รู้สึกว่าการเรียนเป็นเรื่องที่น่าเบื่อ

ภาษาจีน...เทรนด์ใหม่มาแรงสุดๆ
อ.สุขสันต์ วิเวกเมธากร เจ้าของโรงเรียนสอนภาษาจีนสุข สันต์วิทยา และผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาและวัฒนธรรมจีน เจ้าของนามปากกาเล่าชวนหัวบอกเล่ารายละเอียดที่น่าสนใจของเทรนด์ใหม่ที่ไม่ธรรมดานี้ให้เราฟังว่า...

ทำไมภาษาจีนจึงน่าสนใจ
"ภาษาจีนถือเป็นภาษาที่น่าเรียน เพราะเป็นภาษาที่มีคนใช้มากที่สุดของโลก ดังนั้นในเมื่อเราจำเป็นต้องรู้จักเขา ต้องติดต่อกับเขา ถ้าเราอ่านเขียนภาษาจีนได้ เราจะมีแต่ได้เปรียบ เราไม่ได้เสียเปรียบอะไรเลย แม้กระทั่งเสียงนก เสียงกานะ ถ้าเราฟังออกว่ามันร้องว่าอะไร ถามว่าเราได้เปรียบไหม เราได้กำไรชีวิตไหม แน่นอนว่าเราได้ โดยเฉพาะถ้าเราแปลความหมายออกว่านกมาแบบนี้คือ หมายถึงกำลังมีพายุ ก็ทำให้เรารู้มากขึ้น เข้าใจอะไรมากขึ้น
ถามว่าจำเป็นหรือไม่ ที่เด็กจะต้องเรียนภาษาจีนเป็นภาษาที่ 2 หรือ 3 ผมอยากใช้คำว่าจำเป็น เพราะเด็กเกิดมาในสังคม ต้องพูดภาษาของสังคมให้ได้ อีกอย่าง ปัจจุบันโลกมันโลกาภิวัตน์ ถ้าคุณมีความจำเป็นต้องเลือกมากกว่าหนึ่งภาษา จากสังคมที่คุณมี ผมว่า ก็เป็นเรื่องที่เหมาะสม แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องดูด้วยว่าภาษาอะไร ก็อยู่ที่คุณว่าจะวางเป้าหมายให้ลูกอย่างไรบ้าง และเด็กเหมาะกับสิ่งนั้นหรือไม่ด้วย

ภาษาที่ 2... “จีน” หรืออังกฤษดี
"ปัจจุบัน มีคนใช้ภาษาจีน 1,300 ล้านคน จาก 6,000 กว่าล้านคนทั่วโลก ทุกๆ 5 คนของโลกนี้เป็นชาวจีนหนึ่งคน ดังนั้นที่หลายคนเข้าใจว่าภาษาที่ใช้มากที่สุดคือภาษาอังกฤษ ไม่น่าจะเป็นความจริง น่าจะเป็นภาษาจีนมากกว่า เพราะคนในประเทศ 1,300 ล้านคนก็พูดภาษาจีนอยู่แล้ว
เมื่อนึกถึงคนอเมริกันกับคนอังกฤษที่พูดอังกฤษเป็นหลัก แถมออสเตรเลียกับนิวซีแลนด์ด้วย ก็มีแค่ประมาณ 300 กว่าล้านคน สัดส่วนต่างกันหลายเท่านัก อีกทั้งสมัยนี้คนอเมริกันก็เรียนภาษาจีน เป็นภาษาที่สองแทนภาษาสเปน ที่ประเทศออสเตรเลีย คนก็เรียนภาษาจีนเป็นภาษาที่สองแทนอิตาลี ส่วนฝรั่งเศส คนในประเทศเลือกเรียนภาษาจีนมากขึ้น เมื่อเทียบดูแล้วคนที่เรียนภาษาอังกฤษเริ่มมีจำนวนน้อยลง
ที่ผมแนะนำภาษาจีนไม่ใช่ว่าผมสอนภาษาจีนแล้วมาแนะนำกัน แต่ภาษาอังกฤษใครๆ ก็เรียน ปัจจุบันคนที่จบปริญญาโทจากอังกฤษ อเมริกา ออกสู่ตลาดแรงงานมากมาย แต่ถามว่ามีสักกี่คนที่จบมาจากประเทศจีน ผมว่าอันนี้มันก็น่าคิด ฉะนั้น ผมจึงอยากย้ำว่า คนที่เรียนภาษาจีน หรือจบจากประเทศจีนมา ได้เปรียบอย่างแน่นอน”

ก่อนอื่นใด “ภาษาไทย” ต้องแข็งแรง
อาจารย์สิริมา เชียงเชาว์ไว (อาจารย์ โด้ง) อาจารย์ประจำโปรแกรมวิชาภาษาไทย คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ สถาบันราชภัฏสวนดุสิต บอกเล่าวิธีการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับเด็กอย่างน่าสนใจดังนี้
สอนลูกอ่าน-เขียนไทยให้ถูกต้อง
"วิธีการสอนที่ดีที่สุดคือ การทำให้ลูกเห็นเป็นตัวอย่าง คุณพ่อคุณแม่ต้องเป็นต้นแบบที่ดีให้กับเขา โดยที่ตัวของคุณพ่อคุณแม่เองจะต้องเป็นคนที่มีนิสัยรักการอ่าน และควรจะหากิจกรรมการอ่านหนังสือร่วมกับลูก เพื่อคอยชี้แนะแนวทางไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเนื้อหาและภาษาที่เหมาะสมกับเด็ก แต่ทั้งนี้ด้วยความที่หนังสือทุกเล่มไม่ได้ใช้ภาษาอย่างถูกต้องและเหมาะสม เสมอไป คุณพ่อคุณแม่จึงต้องระมัดระวังในการเลือกหนังสือให้ลูกสักนิด
ส่วนถ้าลูกอ่านหรือเขียนผิด คุณพ่อคุณแม่ควรรีบแก้ไขทันที และต้องใช้วิธีการบอกที่นุ่มนวลและมีเหตุผล สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ถ้าหากคุณพ่อคุณแม่ไม่แน่ใจว่าคำๆ นั้นสะกดอย่างไร มีความหมายและการใช้อย่างไร อย่าพยายามเดาสุ่มบอกเด็ก เพราะเด็กจะจดจำทันที ดังนั้นจึงควรตรวจสอบให้แน่ใจก่อนจึงจะบอกได้”
ปลูกฝังให้ลูกรักภาษาไทย
"การที่จะทำให้เด็ก “รัก” ในสิ่งใดนั้น จะต้องทำเด็กตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าในสิ่งนั้นก่อน โดยที่คุณพ่อคุณแม่ควรปลูกฝังลูกว่า “ภาษาไทย” เป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความเป็นไทย เป็นสิ่งที่ปู่ย่าตายายของเราสร้างขึ้นให้ลูกหลานภาษาไทยเป็นสมบัติของคนไทย ทุกคน และเป็นสมบัติของหนูด้วย ทำให้เด็กรู้สึกว่าตัวเขาเองเป็นเจ้าของสิ่งๆ นั้น เขาจะต้องรักและดูแลรับผิดชอบให้ดีที่สุด”
เด็กกับ คำสุภาพ คำหยาบคาย และคำสแลง
"ถ้าลูกพูดคำหยาบคายหรือพูดในสิ่งที่ไม่ควรพูด คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรดุหรือทำโทษ เพราะเด็กจะตกใจและไม่เข้าใจว่าเขาทำผิดอะไร ในเมื่อผู้ใหญ่บางคน หรือตัวละครในโทรทัศน์ยังสามารถพูดคำๆ นั้นได้ ทางที่คุณพ่อคุณแม่ควรจะอธิบายให้ลูกฟังว่าคำๆ นั้นเป็นคำที่ไม่สุภาพ เมื่อลูกพูดไปแล้ว คนฟังจะมองว่าลูกเป็นเด็กไม่ดี ยิ่งไปกว่านั้นเขาก็จะมองว่าพ่อกับแม่ไม่ดีด้วยที่ไม่ได้สอนลูก ลูกคงไม่อยากให้ใครมองว่าลูกเป็นเด็กไม่ดีและมองว่าพ่อกับแม่ไม่ดีใช่ไหมคะ
ถ้าลูกสงสัยหรือไม่แน่ใจว่าคำไหนควรจะพูดหรือไม่ควรพูด ให้มาถามพ่อกับแม่ได้ตลอดเวลา พ่อกับแม่ยินดีที่จะตอบคำถามของลูกเสมอ พ่อกับแม่ภูมิใจในตัวลูกมากที่ลูกเป็นเด็กดีและพูดจาสุภาพไพเราะกับทุกคน
ส่วนคำสแลงที่ปรากฏอยู่ตามสื่อต่างๆ และในสังคมตอนนี้ก็จะมีผลกระทบกับเด็กเช่นเดียวกัน ในแง่ของการจดจำและการนำไปใช้ ซึ่งคำบางคำอาจจะไม่สุภาพและไม่เหมาะสม แต่อย่างไรก็ตามในความเป็นจริงแล้ว เราห้ามเด็ก ไม่ให้รับรู้คำศัพท์เหล่านี้ไม่ได้ เนื่องจากในสังคมปัจจุบันนี้สื่อต่างๆ มีอิทธิพลอย่างมาก ทางที่ดีที่สุดคือ ต้องคอยชี้แนะและอธิบายเหตุผลให้เด็กฟัง อย่างชัดเจนและนุ่มนวลน่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดค่ะ”

 

แหล่งที่มาของข้อมูล
 นิตยสารบันทึกคุณแม่ ปีที่ 10 เมษายน 2547